นักเรียน นักเลียน มายาจริตในเครื่องแบบ
ศิลปิน อัมรินทร์ บุพศิริ ผลงานศิลปะร่วมสมัยพวกนี้ ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงชาวเมืองเลย มีชื่อว่า เฟส หรืออัมรินทร์ บุพศิริ เป็นบัณฑิตจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งนิทรรศการนี้ถูกแสดงมาเมื่อปีที่แล้วซึ่งก็ยังคงใช้เปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนไทยบางส่วนในปัจจุบันได้ดีทีเดียว เพราะเป็นงานที่เสียดสีสังคมค่านิยมของนักเรียนหญิงไทยที่เปลี่ยนไป โดยเขามองว่าเมื่อ เดินไปตามท้องถนน ย่านร้านตลาดหรือห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ไม่ยากที่คุณจะได้พบกับ“นักเรียน” แบบที่เราอ้างถึง เธอเป็น “นักเรียน”จริงๆ แถมสังกัดโรงเรียนชื่อดังทั้งนั้น เพราะป้ายบอกชัดติดแปะที่หน้าอก เพียงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกของเธอต่างกันลิบลับกับ “นักเรียน” ในอดีต ที่มีดวงหน้าสวยใสเป็นธรรมชาติ เสื้อไม่รัดติ้วเผยถึงเนินเนื้ออันนวลเนียนอย่างจงใจ ที่สำคัญจริตจะก้านก็มีไม่มากเท่านี้ จนแทบหาแววความน่ารักไร้เดียงสาไม่เจอ อัมรินทร์ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนทางความคิดของเยาวชนไทย ทั้งในฐานะ“ผู้บริโภค” อย่างไร้สติ และ “เหยื่อ” อันแสนอดสู
“ความตั้งใจของผมก็แค่อยากวิพากษ์พฤติกรรมของเด็กยุคนี้ที่นับวันจะเลวร้ายลงเรื่อยๆกึ่งๆ อารมณ์หมั่นไส้นิดๆ นั่นละครับ แต่ก็ไม่มีเจตนาจะว่าใครคนใดคนหนึ่ง มองในภาพรวมมากกว่าว่ามันรับไม่ไหวแล้วนะ ติดแฟชั่น แล้วมันก็กลายเป็นการเลียนแบบต่อๆ กัน”
อัมรินทร์ใช้ชื่อนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกนี้ว่า“นักเรียน” ความหมายของมันสื่อ 2 นัย เป็นคนที่ชอบลอกเลียนแบบพฤติกรรมอันเกิดจากสื่อที่หลั่งไหลเข้ามา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่นอาหาร อีกหนึ่งความหมายนั้นเขาล้อกับตัวละครที่ปรากฏบนเฟรม ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กสาวรุ่นที่กำลัง
อยู่ในวัยศึกษาในชุดนักเรียนแต่สามารถบ้าบอไปกับค่านิยมแต่งสวยได้โดยไม่ลืมหูลืมตาว่าบางทีบางอย่างก็อาจไม่เหมาะไม่ควรกับตัวเอง“ที่ผมใช้เด็กผู้หญิงเป็นคนสื่อ เพราะผู้หญิงมันบ่งบอกถึงความใส ความน่ารัก แล้วยังเป็นการสะท้อนเรื่องเพศอีกด้วย ดูเผินๆ เออน่ารักนะแต่พอมาทำพฤติกรรมแบบนี้ แต่งตัวแต่งหน้าทาปากจัดๆ เออจากน่ารักก็เป็นไม่ค่อยน่ารักละ”
อารมณ์ของภาพมันค่อนข้างจะดูเป็นการ์ตูนนะ แต่ไม่มากหรอก ผมอยากให้มันดึงความสนใจผู้คนให้มาจับจ้องมอง ส่วนว่าจะตีความอะไรนั้นอันนี้แล้วแต่ใครจะมองแค่ความสนุกก็ได้ หรือจะคิดมากไปไกลถึงปัญหาระดับประเทศก็ไม่ว่ากัน เพราะสิ่งที่เด็กสาวเหล่านี้พยายามบอกเล่าความหมายชัดเจนอยู่แล้ว”
เด็กสาวในเครื่องแบบส่งยิ้มหวานผ่านลิป-สติกสีแปร๊ด ดวงตากลมเป็นประกายฉายถึงความสุขขณะนั่งอยู่ในห้องส่วนตัว บ้างก็มีเพื่อนเคลียคลออยู่ข้างๆ ช่วยกันแต่งแต้มความสวยให้กันและกัน กระจกเงาแต่ละบานสะท้อนให้เห็นว่าพวกเธอรักที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากพฤติกรรม“เลียนแบบ” ความเป็น“นักเรียน”วัยละอ่อนค่อยจางหายไปทีละน้อย ด้วยเพราะเครื่องสำอางที่เคลือบปิดความน่ารักของพวกเธอจนมิดชิดตามกฎแห่ง “การลอกเลียน”
โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบผมงานที่ค่อนข้างเสียดสีสังคมครับ เพราะมันสะท้อนพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันได้ดี ว่าปัจจุบันนี้ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเราบ้าง สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่าผลงานคุณอัมรินทร์ได้แสดงสิ่งที่ต้องการจะบอกกับผู้คนได้ดีทีเดียว เพราะสื่อออกมาได้อย่างชัดเจนและทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ สามารถเข้าใจได้ตรงกัน อีกทั้งผมเห็นด้วยว่า เด็กนักเรียนสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนเยอะมาก เด็กสมัยนี้มีโทรศัพท์มือถือใช้ตั้งแต่อนุบาล ในกระเป๋านักเรียนต้องพกเครื่องสำอางค์ไปโรงเรียน แอบซอยผม เวลาถ่ายรูปต้องก้มหน้าต่ำกว่าเลนส์กล้องแล้วทำท่าแก้มป่อง เบ่งตาโตให้แบ๊ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันดีกว่าเดิมยังไง ผมคิดว่าช่วงที่นิทรรศการนี้ออกแสดงคงทำให้นักเรียนหลายๆ คน หรือผู้ใหญ่ที่มีลูกหลานที่มีพฤติกรรมแบบนี้สะดุ้งตามกันเป็นแถวๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น